Friday, March 19, 2010

Creativty Academy

อ.ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์ ประธานบริหารด้านการเรียนรู้ (C.L.O.: Chief Learning Officer) แห่ง บ. 37.5 องศาเซลซียส จำกัด ก่อตั้ง Creativty Academy รองรับ Creative Economy เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรต่างๆที่กำลังพัฒนาเข้าสู่กระแสเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการให้บริการด้านการฝึกอบรม การโค็ช และการให้คำปรึกษา โดยประยุกต์จากองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์จากสถาบันแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ (Creative Problem Sollving Institute: CPSI) หนึ่งในสถาบันภายใต้ศูนย์การศึกษาด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Education Foundation: CEF) ซึ่งอ.ศรัณย์ได้เดินทางไปศึกษาจากสหรัฐอเมริกา

บริการดังกล่าว ประกอบด้วย 4 กลุ่มได้แก่

1. Creative HRD Leading to Creative Economy ด้วยการให้คำปรึกษาโดยการนำแนวคิด HPI (Human Perfoemance Improvement) จาก ASTD (American Society of Training & Development) มาวิเคราะห์เพื่อค้นพบช่องว่าง (Gap analysis) สาเหตุ (Cause Analysis) และการแทรกแซง (Intervention) ที่จำเป็นต่อการพัฒนาบุคคลากรและองค์กรไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

2. Creative Competencies for Creative Economy ด้วยการให้การฝึกอบรมให้พนักงานพัฒนาทักษะและระบบความคิดเพื่อให้เกิดความคิดใหม่ในการทำงานของตน และสร้างคุณค่าที่แปลกใหม่แตกต่างไปจากเดิม

3. Crerative Leadership supporting Creative Economy ด้วยการให้การโค็ชแก่ผู้บังคับบัญชาในการบริหารจัดการความคิดสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับกลยุทธและนโยบายของหน่วยงานที่ตนบริหารจัดการ

4. Oganization Alignment towards Creative Economy ด้วยการให้คำปรึกษาเพื่อปรับระบบขององค์กรให้รองรับการนำความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดคุณค่าต่อลูกค้า พนักงาน และองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม

Thursday, November 5, 2009

กบกระโดด ก้าวที่3 ตอน ขาคู่หลัง




กบกระโดด ครั้งที่ 3 วันที่ 20 พ.ย.52 ครั้งนี้เต็มอิ่ม เต็มวันครับ

สำรองที่นั่งได้ที่ 089 114 2131

'ขาคู่หน้า' กบกระโดดก้าวที่ 2 สร้าง 'สุดยอดคนทำงาน'

กบกระโดดก้าวแรก ที่เคยคุยกัน คือสภาวะที่พนักงานในองค์กรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (top performance) ซึ่งองค์กรต้องเริ่มสร้างเพื่อรองรับช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวที่กำลังจะมาถึง และมีการวิจัยพบว่าปัจจัยสำเร็จก็คือ วิธีการบริหารบุคลากรของหัวหน้าโดยตรง
ต่อเนื่องถึงกบกระโดดก้าวที่สอง แล้วหัวหน้าจะบริหารลูกน้องอย่างไร ? ซึ่งไม่ใช่ทฤษฎีที่นักวิชาการคิดขึ้นแต่มาจากผลการวิจัย จากการปฏิบัติจริง
ดังนั้นแนวทางที่จะนำเสนอในบทความนี้จึงอาจแตกต่าง อาจตรงกันข้าม และอาจขัดแย้ง กับทฤษฎีและแนวทางการปฏิบัติแบบเดิมๆ
ทำไมจึงใช้ชื่อ “ขาคู่หน้าของกบกระโดด” เราเคยอุปมาอุปไมยว่าช้างจะเดินได้สวยต้องมีการประสานที่ดีของ “ช้างเท้าหน้า และช้างเท้าหลัง”
เช่นเดียวกัน กบจะกระโดดได้สูงก็ต้องมีการสอดรับของขาคู่หน้า และขาคู่หลัง และขอเปรียบขาคู่หน้าของกบกระโดดเป็นการบริหารบุคคลของหัวหน้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มของพนักงาน top performers
ขากบคู่หน้าของกบที่คลาน คือ หัวหน้าที่มองศักยภาพของลูกน้องที่ความรู้ ความฉลาด ทักษะ และประสบการณ์ ที่มีอยู่ จึง “put the right man on the right job” ด้วยการให้พนักงานได้ทำงานที่สอดคล้องกับความรู้ ความฉลาด ทักษะ ประสบการณ์ที่มี
ต่างกับ หัวหน้าที่มองศักยภาพของลูกน้องลึกถึง talent ของแต่ละคน ซึ่งในที่นี้มิได้หมายถึง พรสวรรค์พิเศษที่มีเฉพาะในคนบางคน แต่หมายถึงรูปแบบของความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ หมายถึงความเป็นตัวตน หมายถึงอัตลักษณ์ หมายถึง 'จริต' ที่พนักงานแต่ละคนมีแตกต่างกัน
หัวหน้าเหล่านี้ “put the right man on the right job” ด้วยการให้พนักงานได้ทำงานสอดคล้องกับ talent ด้วยความคิดที่ว่า จริตคือแก่นที่จะนำไปสู่คุณภาพที่ยอดเยี่ยมของการทำงาน
พนักงานที่ทำงานสอดคล้องกับความรู้ ความฉลาด ทักษะ ประสบการณ์ จะทำงานได้ตาม job description ของงาน เป็นเพียงกบเดินดิน (Average performance)
ต่างกับพนักงานที่ทำงานสอดคล้องกับจริตของตน จะทำงานได้ผลงานที่ยอดเยี่ยมเกินกว่าที่กำหนด คือกบกระโดด (Top Performance)
ขากบคู่หน้าของกบที่เดินต้วมเตี้ยม หมายถึง หัวหน้าที่ระบุขั้นตอนการทำงานเป็นมาตรฐาน แล้วสั่งหรือควบคุมให้พนักงานทุกคนทำตามขั้นตอน ซึ่งอาจจะถูกหรือไม่ถูกจริตของพนักงานแต่ละคน ด้วยความคิดที่ว่าขั้นตอนที่ดี จะนำไปสู่ผลงานที่ดี
แต่ขากบคู่หน้าของกบที่กระโดด หมายถึง หัวหน้าที่ระบุผลลัพธ์ของการทำงานที่ต้องการ แล้วเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานตามจริตของตน โดยมีขั้นตอนจำกัดเพียงบางเรื่องที่จำเป็น อาทิเช่น เรื่องที่เกี่ยวกับความถูกต้อง การเงิน มาตรฐานอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมองค์กร ขณะที่หัวหน้าเน้นการ
ควบคุมไปที่ผลของงาน ด้วยความคิดที่ว่า วิธีการทำงานที่ถูกจริต จะนำไปสู่ผลงานที่เป็นเลิศ
พนักงานที่ทำงานตามขั้นตอน จะทำงานได้เหมือนเดิมๆ ขาดพัฒนาการและความแตกต่าง เป็นดั่งหุ่นยนต์ที่ทำตามโปรแกรมที่กำหนด จะเป็นเพียงกบเดินดิน
ต่างกับพนักงานที่ทำงานด้วยวิธีที่สอดคล้องกับจริต จะทำงานได้ดีขึ้น มีชีวิตชีวา มีผลงานที่ยอดเยี่ยมโดดเด่นเกินมาตรฐาน จะเป็นกบกระโดด
ขากบคู่หน้าของกบที่ไปเดินมา หมายถึง หัวหน้าที่พยายามแก้ไขซ่อมแซมจุดอ่อนของพนักงานแต่ละคน ด้วยการประเมินผลการทำงานควานหาทักษะที่บกพร่อง แล้วสอน ฝึกอบรม และโค้ช เพื่อกำจัดจุดอ่อน ด้วยความคิดที่ว่าควรเติมสิ่งที่ขาดเข้าไปในตัวพนักงาน
แต่ขากบคู่หน้าของกบที่กระโดด หมายถึง หัวหน้าที่มุ่งความสนใจไปที่จุดแข็งของลูกน้องแต่ละคน แล้วพยายามรีดผลงานที่ดีออกมาจากจุดแข็งนั้นๆ โดยจะไม่แก้ไขจุดอ่อนที่พนักงานมีอยู่ด้วยการบริหารความเป็นตัวตนของพนักงาน แต่จะบริหาร “ปัจจัยอื่นๆ” เพื่อรองรับ ชดเชย และเติมเต็ม ให้กับจุดอ่อนนั้นๆ ด้วยความคิดที่ว่า เราควรดึงเอาสิ่งมีอยู่แล้วออกมาจากตัวพนักงาน
พนักงานที่ได้รับการเติมเสริมจุดอ่อน จะสิ้นเปลืองเวลาและสูญเสียโอกาสไปกับการฝืนฝึกฝนในสิ่งที่ไม่ถนัด เสียความภูมิใจในความสามารถของตนเองจะเป็นเพียงกบเดินดิน
ต่างกับพนักงานที่ได้รับการพัฒนาจุดแข็ง จะใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผลงานจากสิ่งที่ตนเก่ง มีความภูมิใจในศักยภาพของตนเอง ฮึกเหิมคึกคัก คือกบกระโดด
ขากบคู่หน้าของกบยืนนิ่ง หมายถึง หัวหน้าที่ปฏิบัติต่อลูกน้องอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการจูงใจลูกน้องทุกๆ คนด้วยสิ่งเดียวกัน ให้รางวัลอย่างเท่าเทียมกัน ให้เวลากับลูกน้องเท่าเทียมกัน ด้วยความคิดที่ว่า เราควรปฏิบัติต่อลูกน้องเช่นเดียวกับที่เราอยากจะได้รับ
แต่ขากบคู่หน้าของกบที่กระโดด จะหมายถึง หัวหน้าที่ปฏิบัติต่อลูกน้องแตกต่างกันไป ด้วยการจูงใจให้รางวัล และให้เวลาแตกต่างกันไปตามจริตของลูกน้องแต่ละคน ด้วยความคิดที่ว่า เราควรปฏิบัติต่อลูกน้องแตกต่างกันไป ตามที่แต่ละคนอยากจะได้รับ
พนักงานที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน จะทำงานได้ผลงานตามมาตรฐานของงานนั้นๆ เป็นเพียงกบเดินดิน
ต่างกับพนักงานที่ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันไปตามจริตของตน จะทำงานได้ยอดเยี่ยมโดดเด่นเกินมาตรฐาน เป็นกบกระโดด
ขาคู่หน้าของกบที่ “ไม่” กระโดด หมายถึง หัวหน้าที่พยายาม “ดัด” จริต ของพนักงาน ซึ่งดัดอย่างไรก็ไม่งาม กระโดกกระเดก ไม่เป็นธรรมชาติ ดั่งท่าทางของคน “ดัดจริต”
ขาคู่หน้าของกบกระโดด หมายถึง หัวหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการนำจริตของพนักงานออกมาเป็น performance ให้ได้มากที่สุด และมีความรับผิดชอบในการหาแนวทางที่จะทำให้พนักงานประสบความสำเร็จบนพื้นฐานของจริตที่แต่ละคนมีอยู่
ดังนั้นหากชาว HR จะให้การสนับสนุนหัวหน้าแผนกและหน่วยงานต่างๆ ในองค์กรให้เป็นขากบคู่หน้าที่แข็งแรงอาจไม่ยากอย่างที่คิด แม้ดูเหมือนว่าแนวคิดนี้สวนทางกับสิ่งที่เคยคิดเคยทำกันมา หากแต่มันเป็นสิ่งที่ไปในทิศทางเดียวกับ “ธรรมชาติ” ของมนุษย์ มิใช่หรือ?

ref : http://www.bangkokbiznews.com/2009/10/13/news_29632447.php?news_id=29632447