Tuesday, November 18, 2008

การฝึกอบรมกับวิกฤตเศรษฐกิจพ.ศ.2552ที่จะมาถึง

“เศรษฐกิจแบบนี้ ปีหน้าไม่ต้องอบรมอบเริมอะไรกันนักหรอก” ...จริงหรือ?
“ทีมโว้งทีมเวิร์ค... ไม่ต้องหรอก... ปีหน้าขอเอาตัวเองให้รอดก่อนเถอะ”“อีคงอีคิว... ก็เอาไว้ก่อนก็ได้... ฉลาดทางอารมณ์คงไม่ช่วยเผชิญกับวิกฤติปีหน้าหรอก”“คิดเป็นระบบระเบิบ... เหรอ...มันคงไม่ช่วยให้ได้ไอเดียที่จะนำไปใช้ ได้ในปีหน้ามั้ง”นั่นเป็นเพียงสามตัวอย่าง ที่เราอาจได้ยินจากพนักงาน เมื่อพูดถึงการฝึกอบรม หากหลักสูตรในปีหน้าเหมือนกับหลายๆปีที่ผ่านมา
“อบรมอบเริมอะไรกัน...เสียเวลาทำงาน...คนก็ยิ่งเหลือน้อยๆอยู่”นั่นอาจเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่เราอาจได้ยินจากผู้จัดการแผนกต่างๆ หากเราเสนอหลักสูตรทั้งสาม
“งบเงิบคงต้องลด... เอาไว้เพิ่มใหม่ตอนเศรษฐกิจฟื้นตัวในปีโน้นแล้วกันน่ะ”และนั่นอาจเป็นอีกตัวอย่าง ที่เราอาจได้ยินจากผู้บริหาร หากเราเสนอขออนุมัติงบฝึกอบรมในปีหน้า ด้วยหลักสูตรเดิมๆ
หากเปลี่ยนจาก teamwork เป็น individual work หล่ะ จะดีกว่าและโดนกว่าหรือไม่?ใครต้องเก่งเรื่องอะไรเพื่อทำผลงานให้ผ่านช่วงวิกฤติ เราก็ให้บริการจัดการฝึกอบรมในหัวข้อนั้นๆ เช่น ฝ่ายขายจะมีลูกค้าใหม่น้อยลง ดังนั้นจึงต้องพรีเซ็นต์งานให้ปิดการขายให้ได้ เราจึงอาจจัดหลักสูตรการพรีเซ็นต์แบบเข้มข้น เพียงแค่เชิญวิทยากรมาฝึกอบรมอย่างเดียวดังที่เคยทำมาอาจจะไม่พอ อาจต้องให้มาเป็นโค้ชหรือที่ปรึกษาระยะสั้นๆ เน้นๆ เข้มๆ เอาให้เก่งกันให้ได้ เพื่อปิดการขายกับลูกค้าที่มีจำนวนลดลงให้ได้ฝ่ายการตลาดอาจต้องเน้นการรักษาลูกค้าเก่า ดังนั้น เราอาจจัดเรื่อง CRM แต่เพียงหาวิทยากรมาสอนๆอย่างเดียวคงชิวๆเกินไป เราอาจต้องหาวิทยากรที่รู้จริงและทำเป็นจริง มารับโจทย์จากฝ่ายการตลาดไปทำ focus group กับลูกค้า แล้วเอาไอเดียใหม่ๆจากลูกค้ามาทำ workshop กับทีมการตลาด เรียกว่า ไม่ใช่เพียงแค่มาสอนแล้วก็สะบัดก้นไป แต่ต้องทำให้เกิดผลงานจริงๆกันเลย
และถ้า EQ ไม่เหมาะกับปีหน้า อะไรจะเหมาะหล่ะ? มีคิวอย่างอื่นที่ช่วยเผชิญหน้ากับวิกฤติบ้างมั้ยAQ เป็นไงครับ Adversity Quotient ความฉลาดในการเอาชนะอุปสรรคและฟันฝ่าวิกฤติ น่าจะโดนใจเพราะปีหน้าคงต้องเจอขวากหนามในการทำงานเยอะทีเดียว มีAQ สูงจะได้ไม่ถอดใจเสียกลางคัน การฝึกอบรมเรื่องนี้จะทำให้พนักงานรู้ว่า องค์ประกอบของ AQ ทั้ง๕ประการของตนเป็นอย่างไร (Control, Origin, Ownership, Reach, Endurance) อะไรดีรักษาไว้ อะไรอ่อนจะได้คอยระวังใจเวลาเจอวิกฤติ จะได้ไม่ท้อ ไม่ยอมแพ้
ส่วนเรื่องความคิด!ในปีหน้าเราคงเจออะไรแปลกๆแตกต่างไปจากเดิม ดังนั้น เราก็น่าจะมีวิธีคิดที่แตกต่างไปจากเดิม มันจะได้แม็ทช์กัน เราจึงอาจทำเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ที่เอาทั้ง “กระบาล” การคิดสร้างสรรค์ และ “กระบวน” การคิดสร้างสรรค์มาอบรมกันเลยเป็นไง จะได้มีไอเดียใหม่ๆในการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย หรืออาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเช่นอาจเกิดไอเดียใหม่ๆในการลดความเครียดในองค์กรอย่างประหยัดด้วยการเอ็นเทอร์เทนกันเอง พนักงานคนไหนเก่งอะไร ก็แสดงอันนั้น อาจเกิดเดี่ยวไมโครโฟนเวอร์ชั่นพนักงาน อาจเกิดละครสั้นที่น้ำไม่เน่า อาจเกิดคณะตลกที่เอาคนในองค์กรมาเป็นมุขที่ไม่เหมือนใคร อาจเกิด AF ภายในองค์กร อาจมีการจัด home stay แลกเปลี่ยนกันองระหว่างพนักงานที่บ้านเกิดอยู่ในจังหวัดต่างๆ.... แล้วแต่จะคิดกันไป

นั่นเป็นเพียงสามหลักสูตรขององค์กรตัวอย่าง องค์กรคุณล่ะ?ยังมีหัวข้ออื่นๆอีกมาก อะไรบ้างหล่ะ ถ้าเรามานั่งทำ competency ที่เน้นเฉพาะสิ่งที่ต้องทำเพื่อผจญกับวิกฤติ เราคงพบ competency อื่นๆอีกอาจจะเป็นเรื่อง positive thinking, change management, empowering people, negotiation, creative cost reduction, creative problem solving และอื่นๆอีกมากมาย
จะปรับเปลี่ยนเป็นหลักสูตรอะไรก็แล้วแต่ ดูเหมือนมันมาจากการเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการฝึกอบรมที่แตกต่างไปจากเดิมผมเห็นด้วยกับการมองการฝึกอบรมว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพและความพร้อมของพนักงานใน “อนาคต” เพื่อส่งเสริมให้เป็นไปตาม career path อย่างราบรื่น แต่ในปีหน้า เราอาจต้องทำการฝึกอบรมเพื่อช่วยให้พนักงานทำงานได้ “ในตอนนี้”ผมเห็นด้วยว่าการฝึกอบรมเป็น “การลงทุน” เพื่อสร้างและสะสมศักยภาพของพนักงานในระยะยาว แต่ปีหน้าคงมีการหยุดการลงทุนกันในทุกๆส่วนขององค์กรเพื่อเก็บเม็ดเงินเอาไว้ก่อน เราจึงอาจต้องปรับมุมมองของการฝึกอบรมมาเป็น “ค่าใช้จ่าย” ที่เห็นผลกลับคืนในปีหน้ากันจะๆ
ดังนั้น หากเปรียบเป็นกองทัพ อาจเสมือนการเปลี่ยนกลยุทธการฝึกอบรมจาก “การสะสมเสบียง” เพื่อพร้อมรับมือข้าศึกที่จะมา เป็น “การเพิ่มกระสุนและอาวุธ” เพื่อต่อสู้ศึกที่กำลังเผชิญหน้าสู้รบกันอยู่ในสนามรบ ณ ตอนนี้
จากการเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและวิธีการ สิ่งที่เราจะได้ยินจากพนักงานอาจเปลี่ยนไปเป็น“ไม่ทงไม่ทีมมันแล้ว เธอไม่เข้าเรื่องของเธอ หัวข้อฝึกอบรมนี้ฉันพลาดไม่ได้ ไม่งั้นเดี๋ยวงานไม่ผ่าน”“หลักสูตร AQ นี้โดนจัง ช่วยเพิ่มให้เรามีความฉลาดในการฟันฝ่าวิกฤติในปีนี้ได้”“ความคิดสร้างสรรค์ทำให้เกิดความคิดที่ต่างไป สอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่ต่างไปจากเดิม”ผู้จัดการอาจเปลี่ยนไปว่า“หลักสูตรนี้จะช่วยเพิ่ม performance ของแผนก พวกเราต้องเข้าน่ะ (ฝากช่วยจองที่นั่งให้ผมด้วยหล่ะ)”ผู้บริหารอาจเปลี่ยนการพิจาณางบฝึกอบรมว่า“เห็นน้ำเห็นเนื้อดี ลุยให้เต็มที่ หากงบขาดเหลืออะไรบอกผมน่ะ”
เราอาจจะทำ “role play” ในการฝึกอบรมของเราในปีที่ผ่านๆมาแต่ปีหน้า เราอาจจะต้องเปลี่ยนเป็น “real play”ผมเชื่อว่า หลายคนคงเห็นด้วยว่าเราต้อง “เล่นของจริง” กันมากขึ้นแล้ว